วันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมศาลาแก่นไพร สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) นายพิชิต สมบัติมาก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายสมบัติ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมกันเป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และเพชรบูรณ์ โดยได้เชิญผู้แทนจากกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.), กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-MOVE รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยมีการนำประเด็นปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้น จำนวน 10 กรณี เข้าพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ กรณีเขตรักษาพันธุ์ป่าภูผาแดง บ้านห้วยระหงส์ หมู่ที่ 7 และบ้านห้วยกลฑา หมู่ที่ 6 อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์, กรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร ชุมชนบ่แก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, กรณีโรงโม่ศักดิ์ชัย บ้านน้ำอุ่น ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, กรณีป่าเตรียมการสงวนหมายเลข 10 แปลง 1 หรือ ป่าโคกหินเพลิง ต.ถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ, กรณีป่าเกษตรสมบูรณ์ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ, กรณีสวนป่าโคกยาว บ้านโนนศิลา ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง บ้านทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ, กรณีอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน บ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม และบ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาป อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น, กรณีอุทยานแห่งชาติภูเวียง บ้านน้อยนางาม ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และกรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2 ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร
นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การลงพื้นที่แก้ไขปัญหาในครั้งนี้ เป็นนโยบายและข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ภาคอีสานให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งวันนี้ได้มีการนำเอาประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน 10 กรณี มาร่วมกันหารือว่าแต่ละประเด็นมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยมีการแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้ตัวแทนชาวบ้านที่ประสบปัญหาแต่ละกรณีได้สะท้อนปัญหา โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาทางออกว่า ในแต่ละกรณีปัญหามีระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งหากประเด็นใดที่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะดำเนินการให้โดยเร็ว เช่น กรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร ชุมชนบ่แก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งกรมป่าไม้ ก็จะมีการออกใบอนุญาตให้ชาวบ้านได้ทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนประเด็นใดที่ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายก็จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้านนางสาวอรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า การร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่ทำกินในแต่ละประเด็นปัญหาในวันนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย โดยผู้แทนกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 และได้มีการกำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในวันนี้ โดย 1 ใน 10 ประเด็นปัญหาที่คิดว่าจะได้รับการแก้ไขในวันนี้ก็คือ กรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร ชุมชนบ่แก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รับปากว่าจะดำเนินการออกใบอนุญาตเข้าทำกินได้ รวมทั้ง กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ก็มีแผนที่จะทำเรื่องของการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็จะมีการหารือร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นในที่ติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ก็จะหาทางแก้ไขร่วมกันต่อไป แต่โดยภาพรวมแล้วก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่ปัญหาเหล่านี้ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมานาน จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม