‘1 ปี คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์’ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปคดีทั่วไทยมีไม่น้อยกว่า 109 คดี ศาลยกฟ้องไป 5 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 4 คดี
3 ก.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อปี 2564 นับได้ว่าเป็นวันที่มีการเริ่มจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) เพื่อแสดงออกทางการเมือง โดยการริเริ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จัดกิจกรรม #สมบัติทัวร์ จากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนั้น ก็มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในลักษณะเดียวกันอย่างต่อเนื่อง กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
แม้จนถึงปัจจุบัน กิจกรรมจะยังไม่ประสบความสำเร็จในข้อเรียกร้อง แต่ปรากฏการณ์คาร์ม็อบเมื่อปีที่แล้ว ก็สะท้อนความเคลื่อนไหวที่กว้างขวาง กระจายตัว ในหลายจังหวัดมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก และเป็นกิจกรรมการแสดงออกท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรูปแบบการชุมนุมรวมตัวมีข้อจำกัด รูปแบบการนั่งอยู่บนรถส่วนตัว ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด แต่ยังสามารถร่วมเคลื่อนขบวนรถไปด้วยกัน จึงเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง
หลังจากกิจกรรมคาร์ม็อบในหลายพื้นที่ ตำรวจมีการดำเนินคดีติดตามมา ส่วนใหญ่ด้วยข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การดำเนินคดีกลายเป็น “นโยบายของรัฐ” ที่มุ่งใช้ต่อผู้แสดงออกทางการเมือง ผ่านไป 1 ปี คดีเหล่านั้นก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง แต่ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีอีกจำนวนมาก แม้จะเริ่มมีแนวทางที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี และศาลพิพากษายกฟ้องแล้วก็ตาม ภาระการต่อสู้คดีจึงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญ
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมลักษณะนี้ ไม่น้อยกว่า 269 ราย ใน 109 คดี (บางรายถูกกล่าวหาในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ยังเป็นเยาวชนจำนวน 21 ราย
หากพิจารณาคดีแยกเป็นรายจังหวัด จะพบว่ามีคดีเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 41 จังหวัด หรือคิดเป็นเกินกว่าร้อยละ 53 ของจังหวัดในประเทศไทย คือมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการดำเนินคดีจากคาร์ม็อบ ได้แก่
ภาคกลางและตะวันออก กรุงเทพมหานคร (26 คดี), นนทบุรี (3 คดี), ปทุมธานี (2 คดี), ชลบุรี (2 คดี), ลพบุรี (2 คดี), ฉะเชิงเทรา (2 คดี), สระบุรี (1 คดี), สิงห์บุรี (1 คดี), กาญจนบุรี (1 คดี), นครนายก (1 คดี)
ภาคเหนือ เชียงใหม่ (6 คดี), เชียงราย (5 คดี), ลำปาง (3 คดี), ลำพูน (2 คดี), ตาก (2 คดี), นครสวรรค์ (2 คดี), พิษณุโลก (1 คดี), กำแพงเพชร (1 คดี), อุตรดิตถ์ (1 คดี), เพชรบูรณ์ (1 คดี)
ภาคอีสาน นครราชสีมา (7 คดี), ขอนแก่น (4 คดี), นครพนม (3 คดี), สกลนคร (3 คดี), สุรินทร์ (2 คดี), ร้อยเอ็ด (2 คดี), อุบลราชธานี (2 คดี), ชัยภูมิ (1 คดี), ยโสธร (1 คดี), หนองบัวลำภู (1 คดี), อำนาจเจริญ (1 คดี), มุกดาหาร (1 คดี)
ภาคใต้ นครศรีธรรมราช (3 คดี), ยะลา (3 คดี), กระบี่ (2 คดี), ภูเก็ต (2 คดี), ปัตตานี (2 คดี), นราธิวาส (1 คดี), สตูล (1 คดี), สุราษฎร์ธานี (1 คดี), สงขลา (1 คดี)
คดียังอยู่ระหว่างต่อสู้อีกไม่น้อยกว่า 83 คดี ทั้งที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง-ศาลยกฟ้องต่อเนื่อง
จากคดีทั้งหมดเหล่านี้ ควรกล่าวด้วยว่าไม่ใช่กิจกรรมคาร์ม็อบทุกครั้งจะถูกดำเนินคดี มีหลายกิจกรรมที่ไม่ได้มีการดำเนินคดีตามมา แม้จะจัดในลักษณะเดียวกัน หรือบางพื้นที่ ตำรวจก็มีการดำเนินคดีในข้อหาที่มีอัตราโทษปรับ ไม่ได้ดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ทำให้เห็นความลักลั่นแตกต่างกัน จนกระทั่งไม่ได้มีมาตรฐานในการใช้กฎหมายที่ชัดเจน
ในส่วนของผลทางคดี จากคดีทั้งหมด 109 คดีดังกล่าว มีคดีที่ตำรวจเปรียบเทียบในข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ทำให้คดีสิ้นสุดไปจำนวน 14 คดี
ขณะเดียวกัน มีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาลจำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีที่จังหวัดลำปาง, ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู ซึ่งศาลมีทั้งการลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา หรือให้รอการกำหนดโทษ (มีคดีที่จังหวัดนครราชสีมา ที่จำเลยบางส่วนให้การรับสารภาพ แต่บางส่วนก็ยืนยันต่อสู้คดี)
นอกจากนั้น มีคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว 4 คดี ได้แก่ คดีที่จังหวัดตาก, คดีที่จังหวัดมุกดาหาร, คดีคาร์ม็อบจากสนามบินดอนเมือง 1 ส.ค. 2564 และคดีคาร์ม็อบ “รวมพลังคนพันธุ์ R อาชีวะขับไล่เผด็จการ” 15 ส.ค. 2564
และมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว 5 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดลพบุรี 2 คดี, คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดนครราชสีมา 2 คดี และคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยที่ยังไม่มีคดีคาร์ม็อบคดีใดที่มีการต่อสู้คดี แล้วศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด
สรุปแล้วจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ยังเหลือคดีคาร์ม็อบอีกไม่น้อยกว่า 83 คดี ที่ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี โดยแยกเป็นคดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน 53 คดี และคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาลแล้ว 30 คดี ในครึ่งปีหลังของปี 2565 จึงมีนัดรอสืบพยานในคดีคาร์ม็อบของจังหวัดต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน