โดยผู้ต้องหาถูกนำตัวมาถึงกองปราบปรามเมื่อคืนนี้ มาจากจังหวัดชัยภูมิ 41 คน จากภูเก็ต และกระบี่ 14 คน ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเมื่อมาถึงตำรวจก็ได้เริ่มทยอยสอบปากคำทันที โดยมีผู้ที่สอบปากคำเสร็จสิ้นแล้ว 38 คน ก็มีทั้งให้การภาคเสธ และปฏิเสธ และทั้ง 38 คน ได้วางเงินสด 100,000 บาท หรือหลักทรัพย์ 200,000 บาท ขอประกันตัวออกไป ยังเหลือที่ยังสอบปากคำไม่เสร็จ และผู้ที่รอหาเงินประกันตัว อีก 17 คน ซึ่งตั้งแต่ช่วงสาย ตำรวจก็ได้เริ่มทยอยสอบปากคำผู้ต้องหาที่เหลือแล้ว
ไปย้อนดูกลโกงของขบวนการนี้ ที่จังหวัดชัยภูมิ พบ 3 รูปแบบ รูปแบบแรกจะเสนอให้ประชาชนทั่วไป มาแจ้งใช้สิทธิจองห้องพักแต่ไม่ต้องเข้าพัก เพื่อนำเงินที่ภาครัฐโอนเข้ามา ไปใช้จ่ายในร้านค้าร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ วิธีการนี้โรงแรมจะได้เงินที่รัฐจ่ายสนับสนุน สิทธิละ 4,000 บาท
รูปแบบที่ 2 เป็นการไปชักชวนญาติ คนรู้จัก หรือเพื่อน ให้ลงทะเบียนร่วมโครงการ จากนั้นก็จะขอซื้อสิทธิหัวละ 800 บาทถึง 1,000 บาท แล้วนำไปสวมสิทธิจองโรงแรมโดยไม่เข้าพัก วิธีการนี้โรงแรมจะได้รับเงินสนับสนุน หัวละ 4,000 บาท เช่นกัน
รูปแบบที่ 3 นายหน้าลงทุนซื้อซิมโทรศัพท์ ไปจ้างประชาชนให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการ แล้วขอซื้อสิทธิหัวละ 600 บาท ถึง 700 บาท จากนั้น นายหน้าก็จะนำซิมที่มีข้อมูลลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ไปขายให้ผู้ประกอบการโรงแรม สิทธิละ 800 บาท ถึง 1,000 บาท
ส่วนกลโกงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่าผู้ประกอบการโรงแรม จะยื่นข้อเสนอให้แขกที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ให้ลงทะเบียนใช้สิทธิ และต้องจองห้องพักเต็มวงเงินที่รัฐสนับสนุน 10 คืน แม้ว่าจะพักเพียงไม่กี่คืนก็ตาม หากแขกร่วมมือด้วย ก็จะตอบแทนทั้งในรูปแบบตัวเงิน หรือให้พักฟรี
อีกรูปแบบ จะมีนายหน้าออกไปหาผู้ที่ลงทะเบียนแต่ยังไม่มีโปรแกรมเดินทางท่องเที่ยว แล้วยื่นข้อเสนอให้บัตรกำนัล เพื่อนำไปใช้กับร้านค้า หรือ ร้านอาหารที่ร่วมขบวนการ แลกกับสิทธิที่ลงทะเบียนไว้ โดยในพื้นที่ภูเก็ตและกระบี่ จับผู้ต้องหาได้ 14 ราย รวมความเสียหายมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท