พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565
@ “เบิ่งอีสาน” รอบสัปดาห์ ที่ผ่านมา..เบิ่งฟ้า มีแต่น้ำ เบิ่งดินซ้ำ น้ำตานอง ท้องนากลายเป็นท้องน้ำ ไกลสุดลูกหูลูกตา…จากร่องมรสุมที่พัดผ่าน ซ้ำเติมด้วยอิทธิพลพายุ “โนรู” ได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้รับผลกระทบฝนตกหนัก ตกนานต่อเนื่อง ติดต่อกันหลายวัน แล้วเกิดน้ำป่าไหลหลาก มวลน้ำจากเทือกเขา น้ำล้นตลิ่ง
@ โดยเฉพาะ “แม่น้ำมูล แม่น้ำชี” มวลน้ำได้ล้นทะลักไปตามลำน้ำสาขา เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สร้างความเสียหายสุดเหลือคณานับ ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ห้องหอ ไร่นา เรือกสวน ถนนหนทาง ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ มูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน
@ ทุกข์ระทม ไปทุกพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ก็เช่นกัน…ที่น้ำแม่น้ำมูล ล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมมานานหลายวันแล้ว “นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะ ลงพื้นที่ชุมชนที่เกิดอุทกภัย โดยได้นำสิ่งของ น้ำดื่ม ลงเรือท้องแบนตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ชุมชนท่าบ้งมั่ง ชุมชนเกตุแก้ว ที่ชาวบ้านยังอาศัยอยู่ในบ้านไม่ยอมอพยพ ไม่สามารถออกมาซื้อหาอาหารในการดำรงชีพได้ ได้พูดคุยกับชาวบ้านให้เร่งอพยพขึ้นไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 22 เทศบาลเมืองวารินฯ และจิตอาสาพระราชทาน ได้ช่วยกันขนย้ายสิ่งของประชาชน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่ได้จัดไว้รองรับประชาชนกว่า 30 จุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
@ ขณะที่ภายในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี… “นายทรงพล วิชัยขัทคะ” รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยจิตอาสา 904 และเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม ในเขตเทศบาลนครอุบลฯ ซึ่งระดับในแม่น้ำมูลสูงขึ้นทุกวันเกือบถึง ระดับ 10 เมตร ซึ่งเป็นขีดอันตราย ทำให้แม่น้ำมูลไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนหลายร้อยครอบครัว จนต้องอพยพขึ้นไปอยู่ที่ศูนย์อพยพพักพิงชั่วคราว พร้อมกับได้เยี่ยมให้กำลังใจ มอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำ ที่ศูนย์อพยพชั่วคราววัดกุดคูณ และศูนย์พักพิงชั่วคราวอีกหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
@ ทางด้าน จ.ชัยภูมิ…ฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืน บนเทือกเขา “พังเหย” เทือกเขา “ภูแลนคา” และเทือกเขาภูเขียว ทำให้มีน้ำป่าไหลทะลักลงแม่น้ำชี จนล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชนแล้วใน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บ้านเขว้า อ.จัตุรัส อ.เทพสถิต อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.คอนสวรรค์ และอำเภอเมืองชัยภูมิ ทางราชการต้องสั่งปักธงแดง เตือนเหตุน้ำท่วมรุนแรงฉับพลัน ภายใน 24 ชั่วโมง
@ และที่ท่วมหนักสุดที่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีกระแสน้ำล้นจากเขื่อนเก็บกักน้ำลำคันฉู อ.บำเหน็จณรงค์ ไหลทะลักผ่านตัวอำเภอจัตุรัส มวลน้ำจากเขื่อนลำคันฉู ไหลหลากเข้าท่วมถนนหนทางและบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งโซนเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลอำเภอจัตุรัส ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ถนนสาย 201 ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ ผ่านเข้า-ออก จากจังหวัดชัยภูมิ ไป จ.นครราชสีมา-กรุงเทพฯ รถผ่านด้วยความอยากลำบาก ซึ่งหลายหน่วยงานต่างระดมช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
@ ส่วนที่ สุรินทร์…ปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องหลายวันที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เต็มความจุแล้ว 14 อ่าง จากทั้งหมด 17 อ่าง ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง มีปริมาณน้ำเกินความจุร้อยละ 130 ล้าน ลบ.ม. เกินความจุที่ระดับกักเก็บน้ำ 21.96 ล้าน ลบ.ม. จึงได้ระบายน้ำออกวันละ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ได้แจ้งให้ชาวบ้านที่อยู่ที่ลุ่มติดลำห้วยท้ายอ่าง ที่ได้รับผลกระทบจากการพร่องน้ำให้ย้ายสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์การเกษตรไว้ในที่สูง และก็มีพื้นที่บางแห่งเกิดน้ำท่วมแล้วหลายแห่ง ที่ตำบลเฉนียง ต.นอกเมือง ต.แกใหญ่ และ ต.ท่าสว่าง (เฉพาะหมู่บ้านที่ติดลำห้วยที่ทางน้ำไหลผ่าน) เนื่องจากให้อ่างฯมีพื้นที่ว่าง รับมือกับพายุ “โนรู”
@ ขณะที่สถานการณ์น้ำของแม่น้ำมูล มีปริมาณสูงขึ้น จากมวลน้ำที่ไหลมาจาก จ.นครราชสีมา และบางส่วนจาก จ.มหาสารคาม บางพื้นที่ล้นตลิ่งเกิน 1 เมตร ส่งผลทำให้พื้นที่การเกษตร จ.สุรินทร์ ที่อยู่ติดแม่น้ำมูล ได้รับผลกระทบหลายพันไร่ มี อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม รวมถึงหมู่บ้านที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำลำพอก อ.ศีขรภูมิ ไหลผ่านพื้นที่ อ.สำโรงทาบ ก่อนไหลลงสู่ห้วยทับทัน น้ำท่วมไร่นา และปิดทางเข้าหมู่บ้านป่าเวย หมู่ 8 ต.เกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ ทำให้ชาวบ้าน 45 ครัวเรือน ถูกตัดขาด เจ้าหน้าที่ต้องเร่งระดมนำเรือท้องแบนออกช่วยเหลือเป็นการด่วนแล้ว
@ ทางด้าน จ.ศรีสะเกษ…เขตเทศบาลเมืองฯ น้ำจากลำห้วยสำราญ ที่ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังคงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีพายุฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน ส่งผลทำให้ถนนตัดใหม่ สายเทคนิค-ม.ราม ถูกน้ำท่วมทั้ง 4 เลน ต้องปิดการจราจรชั่วคราว และมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนในเขตเมืองหลายแห่ง บริเวณซอยมิ่งเมือง ชุมชนโนนกอง ชุมชนหนองอุทัย ชุมชนสะพานขาว และหมู่บ้านกุลวดี
@ ในขณะที่… “นายจำรัส สวนจันทร์” ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M9 (สะพานขาว) อ.เมืองศรีสะเกษ พบว่าจะมีตัวแปรในการลดลงได้ก็ต่อเมื่อ ระดับน้ำในแม่น้ำมูลมีค่าลดลงหรือคงที่เสียก่อน และเนื่องจากปากห้วยสำราญ อยู่บริเวณ ต.โพธ์ ซึ่งมีน้ำท่วมริมแม่น้ำมูลจำนวนมาก ซึ่งเสมือนเป็นแก้มลิงรองรับน้ำจากลำห้วยสำราญ ดังนั้นหากพายุไต้ฝุ่น “โนรู” เปลี่ยนมาเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชัน ก็จะทำให้มีผลกระทบน้อย คาดว่าประมาณ 4 วัน ระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะคงที่ และระดับน้ำในห้วยสำราญ ก็จะคงที่เช่นเดียวกัน แต่หากพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ยังคงมีความรุนแรง จะต้องมีมาตรการรองรับในการช่วยเหลือประชาชนต่อไป
@ ส่วนที่ จ.นครราชสีมา.. “นายวิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งเร่งพร่องน้ำในลำน้ำต่างๆ โดยเฉพาะลำตะคอง และลำมูล รับพายุโนรู ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดฝนตกในพื้นที่มากกว่า 100 มิลลิเมตร กำชับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ให้ระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะปริมาณฝนตกวัดได้ 30 มิลลิเมตร เช่น ลำตะคอง ช่วงสะพานบ้านตะคองหลง ตำบลสูงเนิน อ.สูงเนิน 3.50 ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 50 ซม. น้ำระบายได้ดี แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ลำตะดอง ที่ประตูระบายน้ำกุดหิน ตำบลโคราช ระบายน้ำ 25.34 cms อยู่ในระดับไม่ล้นตลิ่ง ลำตะคอง ที่ประตูระบายน้ำมะเกลือใหม่ ระบายน้ำ 16.18 cms อยู่ในระดับไม่ล้นตลิ่ง ส่วนลำห้วยไผ่ ฝายหนูป้อม ตำบลเสมา ระดับน้ำปกติ ระบายทุกช่อง ยังสามารถรองรับน้ำฝนได้ดี
@ ที่ จ.บุรีรัมย์…ทหารจิตอาสาช่วยเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม โดยหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จ.บุรีรัมย์ จัดกำลังพลจิตอาสาชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ เข้าช่วยเหลือเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ที่บ้านโคกกล่อง หมู่ที่ 2 ต.นิคม อ.สตึก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่อยู่อาศัย และคอกเลี้ยงสัตว์ ไปยังสถานที่ปลอดภัย
@ ทางด้าน จ.อำนาจเจริญ…น.ส.วันเพ็ญ ตั้งสกุล นายก อบจ.ร่วมกับ “นายณัฐพงค์ ตั้งสกุลกุลพัฒน์” นายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญ นำกระสอบทรายวางแนวป้องกันน้ำท่วม ที่ถนนอรุณประเสริฐ หน้าโรงพยาบาลอำนาจฯ จุดเดิมที่ท่วมทุกครั้ง หากฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน เพราเป็นแอ่งกระทะ และเตรียมเปิดถนนสายรอง สำหรับรถโดยสารสายหลัก มุกดาหาร-กรุงเทพฯ และ เขมราฐ-กรุงเทพฯ ให้สัญจรวิ่งผ่านสายรองได้
@ และที่ จ.ยโสธร…นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัด ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และผลกระทบจากพายุโนรู ให้อำเภอประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ในการติดตามสถานการณ์พายุโนรู เพื่อแจ้งเฝ้าระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เสี่ยง ให้ทุกภาคส่วนพร้อมในการรับมือ อุปกรณ์ กำลังพล เข้าปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันบรรเทาเข้าช่วยเหลือประชาชน หรือบางแห่งที่มีความจำเป็นอพยพ
บรรยายภาพข่าวสังคม
จ.ชัยภูมิ…นายสำเริง ทวีภูมิ นายก อบต.บ้านค่าย อ.เมืองชัยภูมิ เร่งนำกระสอบทรายปิดช่องผนังลำชี ป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมทุ่งนา วัด หมู่บ้าน บริเวณบ้านเสี้ยวน้อย หมู่ 8
จ.ศรีสะเกษ…นายศราวุธ ทรงโฉม นอภ.อุทุมพรพิสัย นำกำลังฝ่ายปกครอง ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เร่งสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือชาวบ้านอพยพสิ่งของ เครื่องใช้ ขึ้นที่สูงหนีน้ำท่วม จากฤทธิ์พายุ “โนรู”
“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน