หลังกระทรวงสาธารณสุข เปิดแผนการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ล็อตบริจาคจำนวน 1,500,000 โดส ในจำนวนนี้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้ง 12 เขตสุขภาพ เพื่อใช้เป็นวัคซีนบูสเตอร์รวม 700,000 โดส แต่ในการจัดสรรรอบแรกต้นเดือนสิงหาคม มีเอกสารเผยแพร่พบว่าจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับจัดสรรวัคซีนจำนวนมากคือ 7,200 โดส จนเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าการจัดสรรวัคซีนครั้งนี้เป็นธรรมหรือไม่
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ ชี้แจงว่ากระทรวงสาธารณสุข จัดสรรตามฐานข้อมูลของบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงในจังหวัดบุรีรัมย์ และตามรายชื่อบุคลากรที่แจ้งความประสงค์จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อบูสเตอร์โดส
และหากเปรียบเทียบจำนวนวัคซีนที่จัดสรรให้แต่ละจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ถือว่าจังหวัดบุรีรัมย์ ได้น้อยกว่าจังหวัดนครราชสีมากว่าเท่าตัว
สำหรับการจัดสรรในรอบแรกกระจายไปก่อนประมาณร้อยละ 50 – 70 ของรายชื่อที่แจ้งมา และจะจัดสรรเพิ่มเติมในรอบที่ 2 ซึ่งแต่ละจังหวัดส่งรายชื่อมาเพิ่มเติมได้ ส่วนกรณีที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติ ระงับโครงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการฉีดวัคซีนทั่วโลก นายแพทย์สุระระบุว่าการฉีดเข็ม 3 ของไทย กำหนดฉีดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็เดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้กับประชาชนคู่ขนานกันไป