1.) การพบติดเชื้อในแคมป์ ทำให้ต้องยุติการซ้อมในสนาม 14 วัน และแยกกักตัว
หลังจากมีการวางแผนเข้าแคมป์เตรียมทีมชาติในช่วงปลายเดือนเมษายน ในรอบที่ 1 และจะต้องเข้าแคมป์รอบที่ 2 ในวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งหากเป็นไปตามที่วางแผนการเก็บตัวแล้ว ทีมชาติไทยจะมีการเตรียมทีม 1 เดือนเต็ม ก่อนการแข่งขันแมตช์แรกของทัวร์นาเมนต์ ซึ่งเพียงพอต่อการเรียกความฟิตและวางแท็กติก แผนการเล่น
อย่างไรก็ตามเมื่อทีมงานได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลมีผลตรวจพบเชื้อโควิดและต้องส่งเข้ารับการรักษาตัวทันที ทำให้คณะนักกีฬาทั้งหมด ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัยสูงสุด และเพื่อให้ทีมชาติไทยยังสามารถเดินทางไปแข่งขันให้ได้ จึงต้องงดกิจกรรมการฝึกซ้อมในสนาม และแยกกักตัวให้ครบ 14 วัน รวมถึงแยกกลุ่มนักฟุตบอลที่ต้องเข้าสมทบออกไปอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งทำให้นักฟุตบอลไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามโปรแกรมเตรียมความพร้อมของร่างกายได้ตามที่กำหนดไว้
2.) ปัญหาที่ไม่สามารถทำการฝึกซ้อมจนวันเดินทาง ตัดสินใจต้องนำนักฟุตบอลไปทุกคน
เมื่อไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้แล้ว ทำให้หัวหน้าผู้ฝึกสอนเห็นว่า ไม่สามารถตัดสินใจตัดตัวนักฟุตบอลได้โดยไม่ได้เห็นการฝึกซ้อมร่วมกันเลย ไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบสมรรถภาพความฟิต และมีโอกาสที่จะพบอาการบาดเจ็บได้ตลอดเวลา จึงให้พานักฟุตบอลทั้งหมดไปฝึกซ้อมที่ยูเออีทุกคน ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดการกักตัว ก็คือวันเดินทาง (วันที่ 21 พฤษภาคม 2564)
3.) ความสมบูรณ์ของนักฟุตบอล
หลังจากเดินทางไปฝึกซ้อมในสนามได้ครั้งแรกที่ประเทศยูเออี พบว่ามีนักฟุตบอลที่เคยเป็นตัวหลักของทีมหลายคน ประสบปัญหาการบาดเจ็บรบกวน ได้รับการประเมินอาการจากแพทย์แล้วต้องทำการฟื้นฟู และใช้เวลา และอาจจะล่วงเลยไปถึงช่วงเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์แล้ว รวมถึงปัญหาเรื่องความฟิตของร่างกายที่ไม่ได้ลงซ้อมในสนามเป็นเวลานานในช่วงกักตัว
4.) การบริหารผู้เล่น การซ้อมเพื่อลงแท็กติก
การนำนักฟุตบอลไปทั้งหมดนั้น มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน เมื่อพบปัญหาความฟิต หรือ บาดเจ็บ ข้อดีคือมีตัวเลือกนักฟุตบอลที่สามารถทดแทนตำแหน่งได้ แต่ข้อเสียที่เป็นปัญหาคือ ไม่สามารถจำกัดกลุ่มนักฟุตบอลตัวหลักของทีมที่ชัดเจน สำหรับฝึกซ้อมลงรายละเอียดทางแท็กติก และไม่สามารถสร้างความเข้าใจในแผนการเล่นได้อย่างสม่ำเสมอ แตกต่างจากทีมอื่นๆ ที่สามารถโฟกัสนักกีฬาที่คัดเลือกมาในจำนวนจำกัด รวมถึงสตาฟฟ์โค้ชต้องแบ่งเพื่อเตรียมแผนการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาทุกๆ คนในทุกวันที่เดินทางไปสนามซ้อม รักษาสปิริตและยังต้องเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวหลัก เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นกับนักฟุตบอลทุกๆ คนที่ร่วมฝึกซ้อมด้วยกัน
5.) ปัญหาการสื่อสาร ของโค้ช, ล่าม และ นักฟุตบอล
เรื่องของการสื่อสารต่างๆ ภายในทีมทั้งในการลงรายละเอียดการฝึกซ้อม และในระหว่างแข่งขันเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการสื่อสาร เมื่อล่ามแปลภาษาคนเดิมได้ลาออกไปเป็นล่ามให้กับนักฟุตบอลไทยที่ประเทศญี่ปุ่น (ตามคำแนะนำของโค้ช) ฝ่ายประสานงานทีมชาติของสมาคมฯ ได้แจ้ง อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าโค้ช และ คุณอัตซิโอะ โอกุระ ผู้ประสานงานส่วนตัว ให้สรรหาสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกล่าม โดยทางหัวหน้าผู้ฝึกสอนได้ทำการพูดคุยกับล่ามคนไทยที่สมาคมฯ นำเสนอ เพราะเคยทำหน้าที่ให้กับนักฟุตบอลไทย ที่เคยไปเล่นที่เจลีกมาแล้ว 2 ท่าน