เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 30 มกราคม 2565 เวลา 10:59 น.
ประเดิมคดีทุจริตโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน! ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ รถตู้ รถเบนซ์ เงินสด เงินฝาก 13 รายการ เจ้าของโรงแรม จ.ชัยภูมิกับพวก ซื้อสิทธิ์บุคคลอื่น 9,561 คน มาใช้จองรีสอร์ท อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ของตนเองขณะที่มีห้องพักเพียง 10 ห้อง ททท.ร้องทุกข์ ตร.กองปราบ เสียหาย 13.8 ล. เหตุเกิด 18 ก.ค. – 19 ธ.ค. 2563
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) คณะกรรมการธุรกรรม สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 9 /2565 วันที่ 11 ม.ค.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก รวม 13 รายการ รวมเป็นเงิน 6,611,051.50 บาท ในคดีทุจริตในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสียหาย เป็นเงิน 13,876,080 บาท และ ททท.ได้ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามดําเนินคดีตามกฎหมาย เป็นคดีอาญาที่ 1/2564
ทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัด ประกอบด้วย รถตุ้ 1 คัน ในชื่อผู้ครอบครอง ว่าที่ร้อยตรีณัฐพัชร์ ว่องประสพสุข รถยนต์ เมอร์ซิเดสเบนซ์ และ เงินสด นางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ เงินในบัญชีเงินฝาก 10 บัญชื่อ ในชื่อ นางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ ว่าที่ร้อยตรีณัฐพัชร์ ว่องประสพสุข น.ส.สุจิตรตรา นาคาดะ
คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ระบุความเป็นมาของเรื่องไว้ดังนี้
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบังคับการปราบปราม ตามหนังสือที่ ตช 0026.23/185 ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 เรื่อง รายงาน ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2544 ข้อ 4 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิด เกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2563 นางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก ได้รวบรวมสิทธิจากประชาชนผู้มีสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยใช้วิธีการซื้อสิทธิ์จากประชาชนและบุคคลอื่นที่รวบรวมไว้ แล้วนําสิทธิดังกล่าวมาใช้จองห้องพักที่โรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท อําเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตนเองเป็นเจ้าของอยู่ โดยมีผู้ใช้สิทธิ จํานวน 9,561 คน ในขณะที่โรงแรมมีห้องพักเพียง 10 ห้อง อัตราค่าเช่าห้องพักคืนละ 400 บาท มูลค่าการจองห้องพักทั้งสิ้นรวมเป็นเงิน 3,695,800 บาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนเข้าร่วมโครงการชําระให้กับทางโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท เป็นเงิน 20,819,720 บาท คิดเป็น 60% ของมูลค่าการจองห้องพัก ซึ่งผู้มีสิทธิมิได้มีการเข้าพักที่โรงแรมจริง และส่วนที่รัฐบาลได้โอนเงินสนับสนุนให้ เป็นเงิน 13,876,080 บาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าการจองห้องพัก ซึ่งการกระทําของนางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ เป็นการกระทําโดยทุจริต โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ด้วยการหลอกลวงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นเงิน 13,876,080 บาท เป็นเหตุให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้รับความเสียหาย จึงมาร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามดําเนินคดีตามกฎหมาย เป็นคดีอาญาที่ 1/2564 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุ อันควรเชื่อได้ว่านางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมมีมติ มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542ประกอบกับตามคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 446/2564 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รายนางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบ รายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่ง เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการ ตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวม พยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 13 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย และเป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการควบคุม การเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดําเนินการ โอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงิน ในบัญชีเงินฝากธนาคารอันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้ มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิ ในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย หากต่อมาศาลได้มี คําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวปัณชญา ศรีวรรณภูมิ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 13 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏ ตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง คําสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่11 มกราคม พ.ศ. 2565