เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 13 ส.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. กลาโหม ในฐานะผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการดูแล ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบการรักษาที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) HI และการรักษาในชุมชน หรือ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) CI และการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 รอ.โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
รวมถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.นายณรงค์ศักดิ์โอสถธนากร ผู้ว่าฯจ.ลำปาง นายวิเชียร จันทรโนทัย ผู้ว่าฯจ.ชัยภูมินายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯจ.นครราชสีมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม.และผู้แทนภาคประชาสังคม อย่างได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ พิธีกร-นักแสดงสาว เจ้าของเพจเราต้องรอด เข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมได้มีการรายงานสถานะศูนย์แยกกับชุมชน/ศูนย์พักคอยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงการอุดมศึกษาฯและกทม.สถานะการณ์ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยทั้งแบบ HI และ CI
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯได้ขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมดูแลผู้ป่วยทั้งแบบ HI และ CI รวมถึงในโรงพยาบาลสนาม และการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ
ขณะที่นายอนุทิน ยืนยัน ขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ แต่ในส่วนของเตียงไอซียู มีความต้องการใช้เตียง 5,000 เตียง แต่มี 1,500 เตียง ซึ่งกำลังเตรียมขยายเพิ่ม ส่วนการขนย้ายผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกระทรวงคมนาคมใช้บริษัท ขนส่ง จำกัด มาเสริม ส่วน 7 จังหวัดอีสานใต้
ขณะที่กระทรวงคมนาคม ยืนยันดำเนินการอย่างเต็มที่ โดย 7 จังหวัดอีสานใต้ไม่มีปัญหา ซึ่งเบื้องต้นจะส่งผู้ป่วยเดินทางโดยรถไฟและทางบกดีที่สุด
ส่วนกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำว่ากองทัพ จะช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มกำลังในทุกด้าน พร้อมจัดรถรับส่งผู้ป่วย แยกผู้ป่วย มอบอุปกรณ์แพทย์ และอาหาร ให้แก่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม
ขณะที่ปลัด กทม.รายงานขั้นตอนการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ การดูแลผู้ป่วย HI ซึ่งมีอุปกรณ์ วัดไข้ วัดออกซิเจน ยาฟ้าทะลายโจร สถานการณ์ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยด้วยการแยกกักตัวที่บ้านพื้นที่ กทม. ของกรมการแพทย์ จำนวนผู้ป่วยสะสมที่เข้าระบบทั้งหมด 61,376 คน ส่วนการกักตัวในชุมชน มีศูนย์พักคอย 67 แห่ง เป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus)หากเปิดได้ทุกส่วนจะมีเตียงถึง 10,000 เตียง
ด้านภาคประชาสังคม ได๋ ไดอาน่ารายงานว่า ได้รับแจ้งและช่วยเหลือผู้ป่วยไป 2 หมื่นกว่าราย ซึ่งจะมีโครงการ Back Home ส่งกลับรักษาที่ภูมิลำเนา ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ ได้ตั้งศูนย์พักคอย ที่เขตประเวศ และที่นายตันภาสกรให้การสนับสนุนเปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยระดับสีเขียว ระดับสีเหลือง ไปจนถึงผู้ป่วยวิกฤตินั้นก็จะดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุม นายกฯ กล่าวว่า ดีใจที่ กทม.และทุกภาคส่วนร่วมมือกันเป็นอย่างดีพร้อมย้ำ การอธิบายเรื่องการขนย้ายผู้ป่วย การส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ให้ประชาชนเข้าใจและต้องปลอดภัย ทั้งนี้ทุกหน่วยงานทำให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ต้องปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ ศูนย์กลางขอรับความช่วยเหลือ การกำจัดขยะติดเชื้อ การบูรณาการทั้งกทม.และต่างจังหวัดในขั้นตอนต่างๆ การทำ bubble and seal ให้ถูกต้อง
ซึ่งการทำงานต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกัน
ทั้งนี้ นายกฯยังกล่าวถึงการติดตามวัคซีนและยาใหม่ๆ ที่สาธารณสุขรับผิดชอบและเสนอมา และต้องเตรียมวัคซีนสำหรับช่วงปลายปีเพิ่ม
โดยกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ขณะนี้ได้เริ่มพูดคุยแล้ว สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับมอบมาได้ฉีดเป็นไปตามแผน ส่วนไฟเซอร์อีก 20 ล้านโดสที่ครม.อนุมัติจัดซื้อก่อนหน้านี้ จะขออนุมัติงบฯเพื่อเป็นเงินมัดจำ โดยนำเข้าให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ส่วนที่จะจัดซื้ออีก 10 ล้านโดส จะดำเนินการนำเสนอครม.โดยล็อตแรกเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ย.ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามสัญญา
ส่วนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ
ภายในปีหน้าน่าจะมีผลที่ชัดเจนและมีแนวโน้มที่ดี
ในเรื่องชุดตรวจ ATK ที่รัฐบาลและเอกชนนำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนโดยกระทรวงพาณิชย์จะได้รับไปดูแล ส่วนกรณีมีเอกชนนำเข้ามาจำหน่ายเองต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ จึงจะแก้ปัญหาได้
ทั้งนี้นายกฯ ได้หารือกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมิตรที่ดีและสนับสนุน ช่วยเหลือไทย นอกจากนี้เรื่องปัญหาข่าวปลอมต้องแก้ปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง หากทุกอย่างทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ตามระเบียบ กฎหมายไม่มีอะไรต้องกลัว และให้กำลังใจทุกคน ทุกระดับ เพราะรู้ว่าทุกคนทำงานหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ส.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกฯ เป็นประธาน