ภูมิภาค
ชาวชีบนชัยภูมิเฮ! “บิ๊กป้อม” จี้ลุยแก้ปัญหาอีสานแล้งยั่งยืน
วันอังคาร ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 08.28 น.
คลิกที่นี่
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำนักงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน อ.บ้านเขว้าจ.ชัยภูมิ เพื่อตรวจดูความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ที่โครงการก่อสร้าง “ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “ บ้านยางนาดี ตำบลชีบน อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ
ก่อนที่ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์แล้งหลายพื้นที่ในปีนี้ จึงสั่งการให้ สทนช.กำกับ ติดตาม ความก้าวหน้าแผนงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกพื้นที่ รวมถึงเร่งรัดแผนงานโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำอย่างยั่งยืน ควบคู่ด้วย โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของประเทศที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าฝนปกติ แต่จากมาตรการบริหารจัดการน้ำและเร่งเก็บกักน้ำบริหารจัดการน้ำ รวมถึงอิทธิพลของพายุทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 3,145 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้น้ำต้นทุนฤดูแล้ง 63/64 ( ณ 1 พ.ย.63 ) เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3,978 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2558 (ปีน้ำน้อย) จำนวน 1,601 ล้าน ลบ. ม. และมากกว่าปี 2562 และปี 2561 จำนวน 695 ล้าน ลบ.ม. และ 770 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งแต่อย่างใด ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ประสบภัยแล้ง 430 ตำบล 75 อำเภอ 11 จังหวัด โดยอยู่ในลุ่มน้ำชี 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ในเขตพื้นที่บริการการประปาส่วนภูมิภาค ( กปภ.) และนอกเขตพื้นที่บริการ กปภ. รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในเขตและนอกเขตชลประทานโดย กอนช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล และสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนรับทราบ เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดตาม 9 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63/64
ขณะที่แผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น สทนช.ได้ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใกล้จะแล้วเสร็จ เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติพัฒนาแหล่งน้ำตามกลุ่มลุ่มน้ำเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ “ลุ่มน้ำชี “แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แล้วหลายแห่ง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำน้ำพุง และเขื่อนลำปาว เป็นต้น แต่พื้นที่ที่พัฒนาดังกล่าวจะอยู่ในตอนกลางของลุ่มน้ำเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมีการพัฒนาน้อยมาก ทำให้การใช้ประโยชน์จากน้ำในลุ่มน้ำชีไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร ยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเป็นประจำ ดังนั้น แผนการพัฒนาลุ่มน้ำชีต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ตอนบนของลำน้ำชี และลำน้ำสาขาที่สำคัญ อาทิ ก่อสร้างระบบส่งน้ำและสูบน้ำ เพื่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำในลำน้ำสายหลัก ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตตัวเมืองป้องกันการบุกรุกล้ำแนวลำน้ำสาธารณะ อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ เป็นต้น
สภาพลำน้ำชีตั้งแต่ต้นน้ำ จ.ชัยภูมิ ลงมามีความลาดชันสูง น้ำไหลแรงจนมาเข้าเขต จ.ขอนแก่น ไหลต่อลงไปที่จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ไปจนถึงยโสธร และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ความยาวถึง 1,047 กิโลเมตร ตลอดลำน้ำมีแหล่งเก็บน้ำช่วยชะลอน้ำอยู่บ้างแต่ไม่มากพอและหลายแห่งตื้นเขิน จึงต้องวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาลุ่มน้ำชีมีการพัฒนาปรับปรุงแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบเพื่อเพิ่มปริมาณเก็บน้ำไปแล้ว 138 แห่ง เก็บน้ำได้ 136 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ถึง 113,236 ไร่ ขณะเดียวกัน ยังมีหนองน้ำสาธารณะและแก้มลิงกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชี โดยภายในปี 2565 กรมชลประทานมีแผนพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีก 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 258 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่ ขณะที่การพัฒนาอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ มีทั้งสิ้น 8 แห่งแล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ โปร่งขุนเพชร และอ่างฯลำปะทาวบน-อ่างฯลำปะทาวล่าง ปริมาณน้ำเก็บกักรวม 104 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์รวม 55,000 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แห่ง ได้แก่ อ่างฯลำน้ำชี อ่างฯ ลำสะพุง อ่างฯ พระอาจารย์จื่อ อ่างฯ ลำเจียง และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) เมื่อแล้วเสร็จทั้งหมดเก็บกักน้ำได้ 197.73 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 178,160 ไร่ และมีแผนจะดำเนินการในปี 2566 จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ลำชีบน ปริมาณน้ำ 325 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 35,000 ไร่”
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ในส่วนของปัญหาที่ยังคงเกี่ยวข้องกับประชาชน ที่จะต้องได้รับการเยียวยาในพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้าง ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการให้การประสานงานเจรจากับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งมีทั้ง ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์และผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงต้องให้มีการเจรจาหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว ซึงก็ยังคงเหลือเพียงแค่ไม่กี่ราย และคาดว่าน่าจะสามารถสรุปได้ภายในปีนี้ และสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนได้ทั้งหมดในปีหน้านี้ โดยโครงการดังการก่อสร้างก็ยังคงต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ซึ่งอาจจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปีที่จะถึงเพื่อจะได้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดชัยภูมิได้อย่างยังยืนในอนาคตอีกด้วย
คลิกที่นี่