7 พ.ค. 2565 – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ทำการติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสําปะหลังและยางพารา รวมถึงมอบโฉนดที่ดินคืนให้เกษตรกร มอบเช็คชําระหนี้แทนเกษตรกรและเช็คโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดชัยภูมิ มองว่าพืชผลการเกษตรปีนี้ดีทุกตัว และทำเลแห่งนี้อยู่ในเขตชลประทาน ดินดี น้ำดี พืชผลดี ทำให้มันสำปะหลังกิโลกรัมละ 3.20 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กิโลกรัมละ 11-12 บาท ยางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 30.30 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้กิโลกรัมละ 10 บาท
“เมื่อเรามาแก้ไขปัญหาราคายางพาราดีขึ้น ทำให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ปลูกข้าวไว้กินขณะที่ราคาข้าวดี ราคาข้าวสารก็จะแพงขึ้น ไม่ต้องซื้อข้าวสารแพงขึ้น จะสามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่ราคาพืชเกษตรตกต่ำ จะมีนโยบายสำคัญคือนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล เป็นตัวช่วยยามที่ราคาพืชเกษตรตกต่ำ ในพืชเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีเงิน 2 ทาง จากราคาที่ขายในตลาดและเงินส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน โอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง นี่คือซุปเปอร์แมน ตัวช่วยในยามที่ข้าวราคาตก แม้ปลูกข้าวไว้กินไม่ได้เอาไปขาย ก็ได้รับเงินส่วนต่างเหมือนกัน ” นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับจังหวัดชัยภูมิประกันรายได้ 3 ปีที่ผ่านมาช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว 150,000 ราย โอนเงินส่วนต่างแล้ว 4,200 ล้านบาท ทำให้มีเงินส่วนต่างเฉลี่ยครัวเรือนละ 38,419 บาท สำหรับยางพาราประกันรายได้ ยางก้อนถ้วยที่กิโลกรัมละ 23 บาท ช่วยเกษตรกรชัยภูมิไปแล้ว 3 ปี 5,800 ราย โอนเงินส่วนต่างแล้ว 104 ล้านบาท ซึ่งช่วงหลังราคาเกินจากรายได้ที่ประกันทำให้ไม่ต้องโอนเงินส่วนต่าง เฉลี่ยที่เคยได้รายละ 31,000 บาท มันสำปะหลังประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ซึ่งเราเดินหน้าเป็นตัวช่วยยามยากให้กับพี่น้องยามที่พืชเกษตรราคาตก
ส่วนเรื่องหนี้สินเรามีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นในปี 2542 สมัยรัฐบาลชวนสอง (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2) เป็นผู้เริ่มต้นจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูในยุคนั้น และในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกชื่อจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร่วมกันผลักดันจนกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นและวันนี้ตนได้มีโอกาสเข้ามาดูแลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยแก้ปัญหา 2 ข้อ 1.แก้ปัญหาหนี้สิน 2.แก้ปัญหาพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีรายได้มาใช้หนี้ได้ในอนาคต
“ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯจะซื้อหนี้จากสถาบันการเงินโดยไม่มีการยึดที่ดินทำกินจากเกษตรกรและดอกเบี้ยเงื่อนไขพิเศษ เพื่อไม่ให้ที่ดินทำกินตกไปอยู่ในมือของนายทุน และจะมีโครงการช่วยฟื้นฟูพัฒนาชีวิตเกษตรกร โดยให้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ของบประมาณไปฟื้นฟูชีวิต เพื่อให้มีรายได้ยั่งยืนยังชีพต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าพวกเราทุกคน ทำได้ไวทำได้จริง ช่วยเหลือดูแลพี่น้องอย่างเป็นรูปธรรม และผู้ประสานงานที่ให้ตนได้มาพบกับพี่น้องในวันนี้คือ นายชยนนท์ คำเบ้า” นายจุรินทร์ กล่าวเสริม
ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ ระบุว่า ภายในงานได้มีการมอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรจำนวน 7 องค์กร 7 โครงการผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 797 คน เป็นเงินจำนวน 2,190,000 บาท โดย 7 องค์กรประกอบด้วย 1.กลุ่มไร่นาสวนผสมบ้านหัวสะพานหมู่ 8 2.องค์กรเกษตรกรส่งเสริมอาชีพบ้านฉนวน 3.กลุ่มเลี้ยงโคบ้านดอนไข่ผำ 4.กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรบ้านใหม่ไทรงาม 5.สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทยบำเหน็จณรงค์ 6.สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทยลูกพญาแล 7.กลุ่มเกษตรผสมผสานพัฒนาอย่างยั่งยืนบ้านสารจอดใหม่ 1 และมอบเช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรจำนวน 3 สหกรณ์ 23 ราย จำนวนเงิน 4,533,585.08 บาท ซึ่ง 3 สหกรณ์ประกอบด้วย 1.สหกรณ์การเกษตรบ้านเขว้า จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรหนองบัวแดง จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรหนองบัวระเหว จำกัด และยังมีเกษตรกรที่รับมอบโฉนดที่ดินและเกียรติบัตรอีกจำนวน 7 ราย