เครือข่าย โขงเหนือ-อิสาน ลำน้ำสาขา จัดเวทีกลางขับเคลื่อนสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ต่อรองขับเคลื่อนนโยบาย
เวลา 09.00 น. วันที่ 2-3 ธ.ค. 65 ณ ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพชนบท อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย เยาวชนและชาวบ้านกว่า 100 คน ร่วม “ประชุมเครือข่ายประชาชน ปกป้องแม่น้ำโขง-อีสาน” มีตัวแทนกลุ่ม ฮักตามุย ฮักเชียงคาน ดาวดิน รักษ์น้ำพอง แม่โขงบัตเตอร์ฟลาย กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม นักศึกษานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รักษ์เชียงของ แม่โขงยูธ สภาแม่ญิงเชียงของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเยาวชน และประชาชนจากพื้นที่หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุดรธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม เลย และเชียงราย ที่อยู่ลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ประกอบด้วยน้ำมูน น้ำชี น้ำโมง น้ำพรม น้ำเชิญ แม่น้ำอิง
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า ที่ผ่านมาเสียงประชาชนลุ่มน้ำโขงไม่ถูกรับฟังในวิกฤติผลกระทบจากการพัฒนาโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขา
ประชาชนลุ่มน้ำโขงเหนือ-อิสาน มีความจำเป็นต้องสร้างเวทีร่วมกันเพื่อให้มีเสียงที่ดังขึ้น นำไปสู่การเคลื่อนไหวร่วมกันของภาคประชาชน ที่ผ่านมาอำนาจรัฐในการจัดการลุ่มน้ำโขงมีมากกว่าการ และได้อ้างเรื่องเขตแดนอธิปไตย โดยประเทศลาว และจีน ต่างบอกว่าเป็นการสร้างในประเทศตนเอง
การจะลดอำนาจรัฐจากการอ้างเขตแดน เพื่อให้เกิดแนวคิดการพัฒนาร่วมกัน ต้องเริ่มต้นคิดถึงขบวนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
ดังนั้นเรื่องสภาประชาชนไทยลุ่มน้ำโขง น่าจะเป็นสถาบันหรือองค์กรหนึ่งที่ไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้ ขบวนการที่จะไปสู่สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ได้ยินเสียงและ เห็นภาพพื้นที่ของชาวบ้านอย่างชัดเจน
ครั้งนี้จะได้เห็นแม่น้ำโขงร่วมกันทั้งสาย โยงมาถึงลุ่มน้ำโขง ชี มูล แม่น้ำสาขามาพบกัน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเด็นปัญหาต่าง ๆ และทางออกเชิงนโยบาย และปฎิบัติที่จะเกิดขึ้น เราจะเห็นการพัฒนาแม่น้ำโขงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร
มีพรรคการเมือง ส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ เพื่อนำไปวางนโยบายของพรรคต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้รู้ว่าหน่วยงานของรัฐ และสมาชิกพรรคการเมืองคิดอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวันแรก กลุ่มต่าง ๆ ได้พูดคุยถึงสภาพปัญหาลุ่มน้ำโขงในทุกลุ่มน้ำ ปัญหาลุ่มน้ำโขงเหนือและอิสาน มีปัญหาคล้ายกันในเรื่องผลกระทบการสร้างเขื่อนมีระดับน้ำผันผวน เสียพื้นที่ทำกินและวัฒนธรรม การย้ายถิ่นฐานเพื่อให้อยู่รอดทางเศรษฐกิจ และการยึดคืนพื้นที่และขับไล่ชาวบ้านเพื่อหาพื้นที่ให้กับอุตสาหกรรม การทำอีไอเอที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง การขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น และยังยกระดับโครงการผันน้ำจาก โขง ชี มูล เป็น โขง เลย ชี มูล ที่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล
ในที่ประชุมเครือข่ายได้เสนอทางออกเห็นว่าต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมภาคประชาชน สร้างความเข้มแข็งเพื่อให้มีอำนาจการต่อรองกับรัฐ และนิยามคำว่ารัฐไทย ต้องประกอบด้วย รัฐบาล ประชาชน ดินแดน และอธิปไตย นั่นหมายถึงต้องมีประชาชนอยู่ด้วย และประชาชนต้องสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมมือกับเครือข่ายและภายนอกชุมชน จัดทำข้อมูล วางยุทธศาสตร์ประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนและสังคมรับรู้ และข้อมูลในการขับเคลื่อน
ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า รัฐต้องหยุดสร้างเขื่อนและยกระดับโครงการผันน้ำใหม่ หากยังไม่ประเมินผลกระทบเขื่อนและโครงการเก่า เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาน้ำท่วม เพราะมีการเบี่ยงทางน้ำหน้าเขื่อนจุฬาภรณ์ไปทางน้ำเชิญ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำพรมแห้งจึงต้องมีการสร้างเขื่อน อ่าง ฝายกักเป็นระยะ ปลายน้ำจึงแห้ง และเมื่อจัดการน้ำไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำจึงทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหน้าน้ำหลาก แล้งมากในหน้าแล้งเพราะสูญเสียสมดุลตามฤดูกาล และยังจะมีการทุ่มงบประมาณทำโครงการหมุนเวียนน้ำหน้าเขื่อนกลับมาใช้
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า จากข้อเสนอที่จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ต้องนับรู้ว่าเราไม่มีตัวแทนอยู่ในรัฐสภา และรัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี มี พรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ขณะนี้มีการศึกษาการการยกระดับ การผันน้ำ โขง ชี มูล เป็นโขง เลย ชี มูล เฟสแรก พรรคการเมืองก็ไม่ได้ศึกษาเขื่อนเพิ่มเติม ก็บอกแต่ว่าต้องสร้างเขื่อนสนับสนุน และวางยุทธศาสตร์เรื่องการสร้างเขื่อน เพราะมีงบประมาณ เฟสแรก 1.5 แสนล้านบาท รวมทั้ง 3 เฟส 1.9 ล้านล้านบาท เทียบกับงบประมาณประเทศไทยนั่นอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท จะเห็นว่างบมันมหาศาลขนาดไหน แล้วเห็นหรือไม่ว่าลุ่มน้ำชีท่วม ไม่รู้จะเอาน้ำไปทิ้งไหน ผันน้ำหน้าฝนใช่ไหม เพราะหน้าแล้งจะผันน่ำจากไหน เพราะน้ำโขงก็แห้ง ซึ่งไม่ดูศักยภาพของการจัดการ และศักยภาพของพื้นที่ เพราะฉะนั้นเมื่อหน่วยงานนี้มาชี้แจงเราประชาชนจะได้มองให้ตรงประเด็น
คือ โครงการเหล่านี้ไม่ได้ตอบโจทย์ชาวบ้าน เพราะการเสนอการตอบโจทย์ชาวบ้านจริงเขาไม่เสนอกันอย่างนี้ มีการจัดการน้ำหลายมิติ เช่น การจัดการน้ำขนาดเล็ก การจัดการน้ำในไร่นา การส่งน้ำจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า งบประมาณมักจะขยายเพิ่ม ยกตัวอย่าง การสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปี 2534-35 จากที่ระบุว่าจะใช้งบก่อสร้าง 1.3 หมื่นล้าน แต่สร้างจริงใช้เงิน 23,800 กว่าล้าน และค่าเวณคืนยังไม่ครบ บอกว่าจะกระทบ 3,000 กว่าครัวเรือน แต่กระทบจริง 7,200 ครอบครัว
แล้วโครงการแสนกว่าล้านบาท ที่จะทำโครงการโขงเลยชีมูลนี้จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเสนอว่าในเชิงนโยบาย คือ ให้ทบทวนโครงการเก่าก่อน โครงการใหม่อย่างเพิ่งเกิด เพราะฉะนั้นติดว่าในเชิงยุทธศาสตร์จะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์น่ำ และยุทธศาสตร์การจัดการแม่น้ำโขงทั้งระบบ
ส่วนเรื่องปลีกย่อย ตนคิดว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องวิธีการ และกฎหมายบ้านเรา ถ้าจะให้แก้ ต้องดูกฎหมายให้รับฟังความคิดเห็นยังใช้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับปี 2548 ซึ่งควรจะเป็นกฎหมาย ไม่ใช่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
แต่ตอนนี้จะออกกฎหมายเรื่องการทำประชามติ ไม่ออกกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วม
สำหรับ MRC นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ไม่องค์กรที่ไม่ส่งผลอย่างไรกับชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขง คนไทยอาจเสนอได้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านเขาจะเป็นแบตเตอรี่เอเชีย เขาไม่หยุด และทุนไทยก็ไปสนับสนุนเขาสร้าง เพราะฉะนั้น MRC ไม่มีบทบาทใดๆ ต่อคนลุ่มน้ำโขง
“ยกตัวอย่าง เขื่อนเดียวที่เห็นชัด แต่เหมือนกันทุกเขื่อน เวลาเขาจะสร้างเขื่อนไซยะบุรี ผู้พัฒนาโครงการคือ ช.การช่างได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำรายงานอีไอเอ ส่งให้ลาวก่อน พอผ่านการเห็นชอบจากลาว ส่งให้ MRC แล้ว MRC ส่งให้ ไทย กัมพูชา เวียดนาม ให้เวลา 2 เดือน แต่พอจะถามข้อมูลในรายงาน เราก็ต้องกลับไปถามบริษัทพัฒนาโครงการก่อน แล้วก็ส่งไปถามลาวก่อน ลาวก็กลับไป MRC อีก ถึงจะตอบเราได้ และในเวทีไม่ได้ตอบเราเลย และภาษาที่สื่อสารเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ 2,000 กว่าหน้า และย่อมาบางมาก แปะอยู่ในเวปไซต์ เพราะ” นายหาญณรงค์กล่าว