จังหวัดอีสานใต้พร้อมรับพี่น้องที่ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม.-ปริมณฑล กลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา แนะโทรแจ้งล่วงหน้าผ่านหมายเลขโทรศัพท์ที่แต่ละจังหวัดจัดเตรียมไว้ก่อนหรือลงทะเบียนที่เว็บไซต์ สปสช.เพื่อจะได้เตรียมเตียง สถานที่และยา พร้อมประสานจัดหารถรับส่งฟรี
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จนเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีเตียงรองรับ ขณะเดียวกัน ก็มีประชากรจำนวนหนึ่งที่แม้ทำงานใน กทม.และปริมณฑล แต่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะประชากรจากภาคอีสานซึ่งมีจำนวนมาก ทางเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ รวมถึงจังหวัดในเขต 10 อาทิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ เป็นต้น จึงพร้อมรับตัวพี่น้องที่ไปทำงานใน กทม.และปริมณฑล ที่ติดเชื้อโควิด-19 กลับมารักษาในภูมิลำเนา
“เรื่องนี้ทางบุรีรัมย์เป็นโมเดลต้นแบบ ทางภาคีเครือข่ายและผู้นำในจังหวัดเขามองว่าลูกหลานทำไมต้องไปนอนรอความเจ็บป่วยอยู่ที่ กทม.และปริมณฑล ถ้าพอจะกลับบ้านได้ก็เอากลับมาดูแลที่ภูมิลำเนาก็ได้ จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้ แต่การย้ายกลับบ้านไม่ใช่ปุบปับย้ายมาเลยเพราะอาจแพร่เชื้อให้คนอื่น ผู้ป่วยต้องติดต่อมาทางจังหวัดก่อนว่ามีความประสงค์จะกลับภูมิลำเนา
โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. https://crmdci.nhso.go.th/ หรือโทรแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 15 หรือโทรติดต่อตามหมายเลขที่ทางจังหวัดจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นจังหวัดก็จะประสานเรื่องการรับส่งโดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกับกรมขนส่งทางบกและทหาร สนับสนุนในเรื่องการเดินทางให้ฟรี ขณะเดียวกันก็ต้องเช็กความพร้อมที่ปลายทางว่าพร้อมรับตัวผู้ป่วยหรือไม่ด้วยเช่นกัน” นพ.พงศ์เกษมกล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าอาจมีผู้ป่วยบางส่วนที่เดินทางกลับมาเองโดยไม่ได้แจ้งก่อน ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะมีสถานที่ให้หรือไม่ ดังนั้นถ้าจะให้ดีควรแจ้งมาก่อนเพราะทางเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมเตียง เตรียมยาและอุปกรณ์ต่างๆ รอไว้ให้
นพ.พงศ์เกษมกล่าวอีกว่า ในส่วนการเตรียมระบบรองรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับจาก กทม.นั้น ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ตนเน้นว่าในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ถ้าอยู่บ้านเองได้ก็ให้ทำ Home Isolation โดยมีการส่งเครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดอุณหภูมิและมีแพทย์ติดตามดูแลอาการอยู่ตลอด รวมทั้งการดูแลในชุมชนหรือ Community Isolation เช่น การใช้วัดหรือพื้นที่อื่นๆ เป็นสถานที่พักแก่ผู้ป่วยโดยมีแพทย์ติดตามอาการเช่นเดียวกัน ส่วนเตียงในโรงพยาบาลต่างๆ ก็ให้ขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง
นอกจากนี้ ในส่วนของการให้ยา ทางกรมการแพทย์ปรับหลักเกณฑ์ให้สามารถจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยที่อาการเล็กน้อยได้แล้วเพื่อป้องกันไม่ให้อาการทรุดลง ซึ่งก็จะทำให้มีการหมุนเวียนการใช้เตียงได้เร็วขึ้น หรือใช้เตียงน้อยลง ดังนั้นถ้าเอา 2 ปัจจัยนี้มาประกอบกันก็น่าจะมีจำนวนเตียงรองรับพี่น้องที่กลับมารักษาในภูมิลำเนาได้
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่