นักพฤษศาสตร์ไทย ค้นพบพืชสกุลเทียนกว่า 20 ชนิด และ 1 สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของโลก สะท้อนความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ผืนป่าไทย พร้อมเปิดตัวหนังสือที่ใช้เวลาศึกษาวิจัยนานกว่า 16 ปี รวบรวมองค์ความรู้พืชสกุลเทียน
นักพฤษศาสตร์ไทย ค้นพบพืชสกุลเทียนกว่า 20 ชนิด และ 1 สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของโลก สะท้อนความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ผืนป่าไทย พร้อมเปิดตัวหนังสือที่ใช้เวลาศึกษาวิจัยนานกว่า 16 ปี รวบรวมองค์ความรู้พืชสกุลเทียน
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ Mr. John Tan Jiew Hoe กรรมการบริหาร Gardens by the Bay ประเทศสิงคโปร์ และ Datuk Chan Chew Lum เจ้าของสำนักพิมพ์ Natural History Publications (Borneo) ประเทศมาเลเซีย
จัดงานเปิดตัวหนังสือ Impatiens of Thailand (พืชสกุลเทียนในประเทศไทย) พร้อมเปิดตัวการค้นพบพืชสกุลเทียนชนิดใหม่ของโลก 20 ชนิดและอีก 1 สายพันธุ์
โดยมี รศ.ดร.ประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงศ์ กรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมกล่าวเปิดงาน มีนักวิชาการ นักพฤกษศาสตร์ นักศึกษา และผู้สนใจจำนวนมากเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์สารนิเทศ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับเทียนชนิดใหม่ของโลก 20 ชนิด ได้แก่
เทียนภาคกลาง (Impatiens centralis Suksathan & Triboun) พบในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และนครสวรรค์
เทียนแจ่มจำรูญ (Impatiens chamchumroonii Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร และอุบลราชธานี
เทียนจันทร์แก้ว (Impatiens chunkaoi Suksathan & Panitvong) พบในจังหวัดนครสวรรค์
เทียนนครศรี (Impatiens nakhonsriensis Suksathan & Triboun) พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช
เทียนพลเสนา (Impatiens phonsenae Ruchis. & Suksathan) พบในจังหวัดสระแก้ว
เทียนวงศ์หนัก (Impatiens wongnakii Suksathan & La-ongsri) พบในจังหวัดน่าน
เทียนดอยวาว (Impatiens doiwaoensis Suksathan & Wongnak) พบในจังหวัดน่าน
เทียนนกอัคคี หรือ เทียนไก่ฟ้า (Impatiens phasiana Suksathan & Triboun) พบในจังหวัดเชียงใหม่ และน่าน
เทียนดอกลาย (Impatiens shimizuana Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง
เทียนกวีศักดิ์ (Impatiens kaweesakii Suksathan) พบในจังหวัดเลย และชัยภูมิ
เทียนภู่มา (Impatiens poomae Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดชุมพร
เทียนพิราบขาว (Impatiens albocolumba Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดเลย ชัยภูมิ และอุดรธานี
เทียนกิ่วลม (Impatiens aureiflora Suksathan & La-ongsri) พบในจังหวัดลำปาง
เทียนจันทบูร (Impatiens chanburiensis Suksathan & Wongnak) พบในจังหวัดจันทบุรี
เทียนนกแก้วน้อย (Impatiens micropsitta Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพะเยา
เทียนพะเยา (Impatiens phayaoensis Suksathan & La-ongsri) พบในจังหวัดพะเยา
เทียนนกแขกเต้า (Impatiens psittacula Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดเชียงใหม่
เทียนแมงป่องม่วง (Impatiens purpureoscopioides Triboun, Tanutong & Ruchis.) พบในจังหวัดกาญจนบุรี
เทียนช้องนาง (Impatiens thunbergioides Suksathan & Triboun) พบในจังหวัดแพร่ และสุโขทัย
เทียนเมืองน่าน (Impatiens nanensis Suksathan & Srisanga) พบในจังหวัดน่าน
นอกจากนี้ยังค้นพบเทียนสายพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 1 สายพันธุ์ ได้แก่ เทียนภูพาน (Impatiens kanburiensis T.Shimizuvar. phuphanensis Suksathan & Ruchis.) พบในจังหวัดสกลนคร
ด้าน ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และผู้แต่งหนังสือดังกล่าว เปิดเผยว่า หนังสือ Impatiens of Thailand รวบรวมองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์
โดยเฉพาะด้านอนุกรมวิธานของพืชสกุลเทียนทุกชนิดในประเทศไทยที่มีจำนวนถึง 90 ชนิด เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างตนเอง และ ผศ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 16 ปี
โดยเริ่มออกสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 รวมทั้งเดินทางไปตรวจสอบตัวอย่างต้นแบบเพื่อการเทียบเคียงในหอพรรณไม้สำคัญหลายแห่งทั้งในยุโรปและเอเชีย และในจำนวนนี้มีเทียนชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับการค้นพบและตีพิมพ์ในหนังสือดังกล่าวจำนวนถึง 20 ชนิด กับอีก 1 สายพันธุ์
สำหรับเนื้อหาในหนังสือได้บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ประวัติการศึกษาทางอนุกรมวิธานของเทียนไทย ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะทางสัณฐานวิทยา นิเวศวิทยา ชีววิทยาการผสมเกสร
การประเมินสถานภาพด้านการอนุรักษ์ รูปวิธาน และคำบรรยายลักษณะเทียนของไทยทุกชนิด รวมทั้งมีรูปวาดสีน้ำ รูปลายเส้น และรูปถ่ายสีประกอบตลอดทั้งเล่มกว่า 400 หน้า
ขณะที่การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยจำนวนมากครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอันหลากหลายในผืนป่าของไทย ซึ่งในบรรดาเทียนชนิดใหม่ทั้ง 20 ชนิดนั้น
มีถึง 15 ชนิดที่ขึ้นอยู่ในระบบนิเวศเขาหินปูน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเขาหินปูนที่นับวันจะหมดไปจากการระเบิดทำปูนซีเมนต์และการก่อสร้าง
นอกจากนี้เทียนจำนวนมากยังเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ส่วนใหญ่หายาก และถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนเพื่อการอนุรักษ์ และวิจัยต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า อันจะเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป.
ภาพจาก ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่