วันพุธ ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag :
กรมชลประทานเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เมืองชัยภูมิ ด้วยโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมือง ลดพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายจากน้ำท่วม นำวิถีชีวิตใหม่ของเกษตกรลุ่มน้ำลำปะทาว จากทำนาปีละครั้ง สู่เกษตรกรรมยั่งยืน
นายพงศ์กรณ์ กำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง ที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในตัวเมือง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอเมืองชัยภูมิเท่านั้น แต่ต้องการสร้างประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรม ที่เป็นอาชีพของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ทำให้การออกแบบทั้งระบบคลอง และประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมน้ำในลำปะทาว และลำห้วยสาขาต่างๆ ต้องคำนึงประโยชน์ของทุกฝ่ายอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มักเป็นถูกน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากน้ำหลากจากลำน้ำที่อยู่ตามเทือกเขา รอบตัวอำเภอเมือง ชัยภูมิ และเกิดจากฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ จึงมักถูกน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ หรือร้อยละ 90 ของพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ เช่นปี พ.ศ.2553 น้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า ล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 1.20 เมตร ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างประเมินไม่ได้”
นายลือชา ดาศรี เกษตรกรบ้านโพธิ์ใหญ่หมู่ 6 ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เล่าว่า ชีวิตดีขึ้นมาก หลังการเกิดขึ้นของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน เพราะทำให้เขามีอาชีพเสริมและรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น
“โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ช่วยให้ชีวิตครอบครัวผมเปลี่ยนไปมาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำประตูระบายน้ำในลำปะทาวเพื่อหนุนให้น้ำสูงขึ้น จากนั้นก็จะไหลออกไปที่คลองชุดใหม่ ที่เชื่อมลำปะทาวกับห้วยดินแดง คลองนี้ช่วยแบ่งน้ำออกจากลำปะทาว ให้ออกไปห้วยดินแดง โดยไม่ผ่านตัวเมืองชัยภูมิ ทำให้น้ำท่วมลดลง ส่วนเกษตรกรสองฝั่งลำห้วยที่ขุดใหม่ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตลอดปี ส่วนตัวผมปกติทำนาอย่างเดียว และทำปีละครั้ง แต่หลังจากเจ้าหน้าที่มาขุดคลอง และทำประตูระบายน้ำด้วย ผมก็คุยกับครอบครัวเลยว่า เราจะทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน เพราะเราจะมีน้ำใช้ได้ตลอดปีแล้ว เพราะประตูระบายน้ำจะกักน้ำไว้ให้เราใช้ประโยชน์ได้ด้วย” นายลือชา กล่าว
สวนผสมผสานของนายลือชามีประมาณ 7 ไร่ แยกจากพื้นที่นาข้าวชัดเจน เพราะเขาตั้งใจว่าจะทำสวนได้ตลอดปี ภายในสวนของเขาแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนเริ่มจากปลูกกล้วยน้ำว้า เป็นไม้พี่เลี้ยงในสวนให้ร่มเงาต้นไม้อื่น และปรุงดินให้ร่วนซุยจากนั้นก็ปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน ลำไย เงาะอะโวคาโด้ และที่สำคัญคือฝรั่ง ซึ่งทดลองปลูกปีแรก แต่ก็ได้ผลดีเกินคาด จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ตอนนี้สร้างรายได้ให้ครอบครัวทุกสัปดาห์ และคนที่เคยได้ชิม ก็สั่งจองทั้งต้นพันธุ์และผลฝรั่งไว้ล่วงหน้าแล้ว
นายสุรัตน์ วรรณพงษ์ เกษตรกรหมู่ 5 ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ใช้ประโยน์จากโครงการป้องกันอุทกภัยเมืองชัยภูมิ เพราะนาข้าวของเขาอยู่ติดกับฅคลองขุดใหม่ ที่เป็นคลองเชื่อมระหว่างลำปะทาว กับห้วยดินแดง ทำให้เขาและชาวนาคนอื่นๆ ทำนาได้ตลอดปี
นายสุรัตน์เล่าว่า ปกติแล้วชาวนาที่นี่ทำนาปีละครั้งตามฤดูฝน เพราะได้น้ำจากลำปะทาว ที่ไหลผ่านเข้าเมือง แต่หลังจากมีคลองขุดใหม่เป็นคลองเชื่อมลำปะทาวไปห้วยดินแดง ทำให้จากนี้ชาวนาจะทำนาปรังได้ด้วย เพราะมีน้ำตลอดปี ทุกวันนี้หน้าบ้านยังมีผลไม้ในสวนหลายชนิดวางขายให้ผู้สัญจรผ่านไป-มา ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้สดไผ่กิมซุง หรือหน่อไม้ดองที่แปรรูปไว้ กล้วยน้ำว้าส้มโอ มะละกอ หรือพืชสวนครัว พริก ข่า ตะไคร้ที่ปลูกเสริมในสวนครัว โดยได้ประโยชน์จากน้ำในระบบชลประทาน
ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า
เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนโดยได้รับอนุมัติ ให้ดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน แผนโครงการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2567 ส่วนโครงการอีก 3 ระยะที่เหลืออยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสม หากโครงการทั้ง 4 ระยะแล้วเสร็จทั้งหมดจะบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้มาก และยังจะส่งน้ำช่วยพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและในฤดูแล้ง รวมทั้งลดพื้นที่ทางทิศใต้ของตัวเมืองชัยภูมิที่จะเสียหายได้จากน้ำท่วมได้อีกปีละกว่า 2 หมื่นไร่