พระใหญ่ทวารวดี ประดิษฐานอยู่ที่วัดคอนสวรรค์ บ้านคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครกาหลงมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ และมีความขลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปหินแกะ สลักปางประทับยืน ศิลปทวาราวดีสร้างด้วยศิลาแลง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดชัยภูมิมากองค์หนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า” หลวงพ่อใหญ่” เดิมพบอยู่บนเนินดินชาวบ้านจึงเรียกเนินนั้นว่า ” เนินหลวงพ่อใหญ่” สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ขุนบัญชาคดี ซึ่งเป็นนายอำเภอคอนสวรรค์ ในขณะนั้น ได้ร่วมมือกับชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่ไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านคอนสวรรค์ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนไปกราบนมัสการเป็นประจำโดยปรกติแล้วลักษณะพระพุทธรูปสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะอินเดียคือ ศิลปะอมราวดี ศิลปะคุปตะ ศิลปะหลังคุปตะ และศิลปะปาละ ที่ มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ ศิลปะคุปตะ เช่น การครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบไม่มีริ้ว การ ยืนเอียงตนแบบตริภังค์ คือ การยืนเอียงตน ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ พระอังสา (ไหล่) พระโสณี (สะโพก) และพระชงฆ์ (ขา) ต่อมาได้พัฒนารูปแบบให้เป็นแบบพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น พระพักตร์กลมแป้น พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนาแบะ พระพุทธรูปประทับยืนตรง ไม่ทำตริภังค์ และนิยมแสดงปางวิตรรกะ (ทรงแสดงธรรม) ทั้ง 2 พระหัตถ์ อันเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในศิลปะทวารวดีโดยเฉพาะ นอกจากนั้น ยังได้พบพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ที่นิยมขัดสมาธิราบอย่างหลวม ๆ (พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย เห็นฝ่าพระบาทเพียงด้านเดียว) อันมีที่มาจากอิทธิพลของศิลปะอมราวดี ต่อมามีอิทธิพลของศิลปะปาละเข้ามา เช่น การทำพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร (การนั่งขัดสมาธิที่เห็นฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง) ในช่วงสุดท้ายของศิลปะทวารวดีมีอิทธิพลของศิลปะเขมรเข้ามาปะปนอยู่ด้วย ก่อนที่ศิลปะทวารวดีจะค่อย ๆ เสื่อมไป และมีอิทธิพลของศิลปะเขมรเข้ามาแทนที่