พระธาตุกุดจอก ตั้งอยู่ที่ บ้านยางน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ตามหลักฐานปรากฏในพงศาวดารลาวว่า ประมาณปีพุทธศักราช 1578 ก่อนที่ชนชาติขอมจะมามีอำนาจ อาณาจักรล้านช้างได้แผ่ขยายอำนาจ มาปกครองพื้นที่ภาคอีสานจนถึงเขตเมืองละโว้ (ปัจจุบัน คือ เมืองลพบุรี) ชาวอาณาจักรล้านช้าง ได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีมาเผยแพร่ และประดิษฐานไว้ จะเห็น จากการก่อสร้างองค์พระธาตุกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในท้องที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ พระธาตุกุดจอก เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และสำคัญต่อ ชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นอย่างยิ่ง มีอายุประมาณ 1,200 ปี แต่เดิมมีองค์พระธาตุอยู่ 3 องค์ คือ องค์แรกมีความสูงประมาณ 15 เมตร มีลักษณะคล้ายสถูป บนยอดพระธาตุมีเศียรพญานาค 8 เศียร อยู่รอบทั้งแปดทิศ ปัจจุบันชำรุดพังลงเหลือเพียงเศียรเดียวและมีพระพุทธรูปปางถวายเนตร ประทับยืนทอดพระเนตรไปข้างหน้า ด้วยพระอาการสำรวม พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาด้านหน้าพระเพลาโดยพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้ายประดิษฐานอยู่ด้านใน สำหรับองค์ที่สองนั้นได้พังลงเหลือเพียงครึ่งเดียว และองค์ที่สามซึ่ง ตั้งอยู่ด้านหลังองค์ใหญ่ได้ถูกพวกมิจฉาชีพขุดและทำลาย เพื่อค้นหาพระหรือวัตถุโบราณ ประชาชนเรียกชื่อว่า พระธาตุกุดจอก เนื่องจากมีลำห้วยกุดจอกอยู่ ใกล้ ๆ ทางทิศเหนือ เดิมเป็นลำห้วยที่ยาวมีน้ำลึกมาก เป็นที่อยู่อาศัยของจระเข้เผือกที่ดุร้าย และฝูงจระเข้เป็นบริวารจำนวนมาก ในด้านอภินิหารนั้น ผู้สูงอายุได้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า หากผู้ใดพูดจาหรือแสดงกริยาอาการลบหลู่ หรือไม่เคารพจะมีอันเป็นไปทันที เช่น ฝูงจระเข้จะขึ้นมาจากลำห้วยรุมทำร้ายกัดฉีกกินเป็นอาหารบางครั้งเกิดมหัศจรรย์ กล่าวคือ มีลมหมุนพัดแรงคล้ายฝนตก น้ำท่วมบริเวณรอบ ๆ พระธาตุ ผู้คนจึงพยายามหลบหนีตาย สักครู่หนึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะหายไป จึงรู้ว่าไม่มีฝนตกและน้ำท่วม ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ในอดีตและปัจจุบัน ประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านบริเวณข้างเคียงศรัทธาเลื่อมใสมาก จะพากันหลั่งไหลมานมัสการพระธาตุกุดจอก จัดงานประเพณี สรงน้ำพระธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยมิได้นัดหมายกัน และชาวบ้านยางน้อย ได้จัดงานรักษาขนบธรรมเนียมไว้ทุกปี บางครั้งมีการจัดงานประจำปี 3 วัน 3 คืน มีมหรสพสมโภชยิ่งใหญ่มาก