การเมือง
น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผ่านการแสดงแบบผ้าไทย ของแม่บ้านมหาดไทย 20 จังหวัดภาคอีสาน
วันเสาร์ ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2566, 09.39 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผ่านการแสดงแบบผ้าไทย ของแม่บ้านมหาดไทย 20 จังหวัดภาคอีสาน มุ่งเผยแพร่ผลงานตัดเย็บยกระดับผ้าไทยหลากสไตล์ เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 6 มกราคม 2566 เวลา 18.00 น. ที่มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดอุดรธานี อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรม “การแสดงแบบผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในการประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566 โดยมี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกิจกรรม โดยมี สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด และภาคีเครือข่ายสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ร่วมแสดงแบบผ้าไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน และเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไทยในทุกโอกาส โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และทุกจังหวัด ขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งการจัดกิจกรรมแสดงแบบผ้าไทยในวันนี้ ได้รับเกียรติจากท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เป็นผู้นำแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด ร่วมสวมใส่ชุดผ้าไทยที่ได้รับการออกแบบตัดเย็บโดยช่างตัดเย็บในท้องถิ่น และใช้ผืนผ้าทอจากช่างทอผ้าในพื้นที่มาสรรค์สร้างเป็นผลงานที่มีความสวยงาม สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ และเรื่องราวความเป็นมาที่ถูกถ่ายทอดผ่านผืนผ้าตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า กิจกรรมแสดงแบบ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทย 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อต่อลมหายใจให้ผืนผ้าไทย ทำให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้า ได้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่สืบสานถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ผสมผสานต่อยอดด้วยหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของประชาชน เป็นผลงานที่ร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้กับครอบครัว ชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ
“การแสดงแบบผ้าไทยในวันนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันคัดเลือกการนำเสนอผลงานผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของคณะกรรมการแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดยมีทีมจังหวัดที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผู้แสดงแบบชุดผ้าไทยใส่ให้สนุกยอดเยี่ยม 3 รางวัล ได้แก่ ชนะเลิศ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี รองชนะเลิศ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครราชสีมา และรองชนะเลิศ ลำดับ 2 ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหนองบัวลำภู และรางวัลพิเศษ 2 รางวัล คือ 1) รางวัลขวัญใจนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้แก่ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสกลนคร และ 2) รางวัลขวัญใจปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหนองบัวลำภู” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณชาวมหาดไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคีเครือข่ายทุกท่านที่ได้ช่วยกันรังสรรค์ผ้าไทยให้มีชีวิตชีวาตามโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใสให้สนุก” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานให้กับพวกเราชาวไทยทุกคน โดยทรงมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับผ้าไทยให้ใส่ได้กันทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกโอกาส ซึ่งการแสดงแบบในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าทุกจังหวัดมีความเป็นเลิศในด้านการส่งเสริมผ้าไทย ตั้งแต่การย้อม การถักทอ การตัดเย็บ จนถึงการจำหน่าย อันเป็นการฟื้นคืนชีวิตผ้าไทยให้เป็นเครื่องมือในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น เฉกเช่นจังหวัดหนองบัวลำภู ที่สิ่งที่พวกเราทุกคนอยากเห็นในเรื่องของ “ความยั่งยืน” ได้เกิดขึ้นแล้วที่นี่ ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้และการส่งเสริมอาชีพ “วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู” เพราะเราจะเห็นเด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ เด็กวัยรุ่น จนกระทั่งถึงผู้สูงวัย ได้ไปเรียนรู้อย่างครบวงจรตั้งแต่การออกแบบเสื้อผ้าตัดเย็บเสื้อผ้า การย้อมผ้า การทอในวิชชาลัย
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การส่งเสริมผ้าไทยอย่างครบวงจร คือ การส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า กลางน้ำ คือ การออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า และปลายน้ำ คือ การจำหน่าย เพื่อมีรายได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกอบการผ้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าในทุกจังหวัดจะมี “ต้นน้ำในเรื่องผ้าไทยเป็นจำนวนมาก” ทั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มย้อมผ้าหลากหลายเทคนิค แต่ “น้องขวัญตา หรือ คุณสุมามาลย์ เต๊จ๊ะ” เป็นต้นแบบรายแรก ๆ ของประเทศไทย ที่มีตั้งแต่ต้นน้ำ คือ คุณแม่ก็เป็นช่างทอผ้า และน้องขวัญตาก็มาเป็นช่างทอผ้า และต่อมาก็ได้นำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาการทอผ้ามาขยายผลออกแบบตัดเย็บและเปิดพื้นที่ที่ดินของครอบครัวเป็นวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ทำให้ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ที่ล้วนแต่เป็นเกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะเขามีทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งประกอบอาชีพ และแหล่งจำหน่ายผ้า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายปลายทาง คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะ “ผ้าทุกผืน” ที่ทุกท่านสวมใส่นอกจากได้รับความสวยงามแล้วยังไปต่อชีวิตให้กับคนอีกมากมายหลายคน หลายครอบครัว และในส่วนของจังหวัดสกลนครจะเห็นได้ว่า ในปีที่ผ่านมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการตลอดจนข้าราชการทุกระดับต่างทำงานอย่างหนักมาก เพื่อที่จะน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนรูปแบบโครงการนำร่องในเรื่อง “การพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน” ที่บ้านดอนกอย อ.พรรณนานิคม ซึ่งความสำเร็จประจักษ์ชัดเจนในการเสริมสร้างรายได้ของผู้ประกอบการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนจาก 700 บาท เป็น 10,000 บาท ทำให้พี่น้องบ้านดอนกอยและครอบครัวสามารถลืมตาอ้าปาก มีรายได้ที่มั่นคง และถึงทุกวันนี้ยอดสั่งจองยังมีอยู่จำนวนมากจนย้อมผ้า ทอผ้าแทบไม่ทัน ด้วยเพราะพระบารมีล้นเกล้าฯ นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารทุกท่านที่ได้มาร่วมกิจกรรมแสดงแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกในวันนี้ และขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันส่งเสริมการใช้ผ้าไทยให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความยั่งยืน
ด้าน นางสาวสุมามาลย์ เต๊จ๊ะ ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) กล่าวว่า ชุดผ้าไทยของจังหวัดหนองบัวลำภูที่ถูกนำมาเสนอในวันนี้ถูกตัดเย็บโดยผลผลิตของวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ซึ่งประกอบไปด้วยช่างทอผ้าทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา เยาวชน จนถึงผู้สูงอายุในพื้นที่หมู่บ้านในพื้นที่ เป็นการน้อมนำพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในเรื่องของความยั่งยืน คือ การส่งต่อถ่ายทอดทักษะกระบวนการผลิตผ้าทั้งระบบจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับและรักผ้าไทย และช่วยกันสืบสานผ้าไทยให้คงอยู่กับประเทศไทยของพวกเรา ทั้งนี้ เด็ก ๆ ที่อยู่ในวิชชาลัย ทุกคนได้สนุกกับงานที่ทำ ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ทุกคนในวิชชาลัย โดยต้องขอขอบคุณท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ได้ให้การสนับสนุนการยกระดับการสืบสานงานผ้าไทยของสู่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา สร้างคุณประโยชน์ให้กับคนอีกจำนวนมากในพื้นที่ และขอขอบคุณการสนับสนุนส่งเสริมจากกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ให้โอกาสเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ OTOP ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาหลักการขาย การตลาด การคำนวณต้นทุน ทั้งนี้ ตนดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย และจะมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ให้เป็นวิชชาลัยแห่งความรักความสามัคคีของคนในชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนทอผ้าจังหวัดหนองบัวลำภูอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกโอกาสที่ทุกท่านได้สวมใส่ผ้าไทย ขอให้ได้ภาคภูมิใจว่า ผ้าไทยทุกชิ้นที่ทุกท่านอุดหนุนมาสวมใส่ ไม่ใช่เพียงทำให้พวกเราทุกคนสวยหรือหล่อ แต่ผ้าไทยนั้นหมายถึงชีวิตอีกหลายล้านคน หมายถึง “ชีวิตของคนไทย” ที่สะท้อนความมั่นคงทางด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ของชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ได้ ต้องมีคนรุ่นต่อรุ่นมาสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้อยู่ยั้งยืนยงคู่กับประเทศชาติของเราตลอดไป
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่