การไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งมอบฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ให้กับกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฟื้นฟูปะการังให้ท้องทะเลภูเก็ต จำนวน 500 ชุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
นายสมเกียรติ พนัสชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการและบริหารสินทรัพย์ระบบส่ง กฟผ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ส่งมอบฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า จำนวน 500 ชุด ให้กับกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นตัวแทนรับมอบ ณ เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต สำหรับเป็นวัสดุสำหรับยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง เพื่อฟื้นฟูแนวปะการัง คืนความสมบูรณ์ในท้องทะเลพื้นที่เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งต่อยอดมาจากการดำเนินโครงการบ้านปลาปะการัง
เทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ.
นายสมเกียรติ พนัสชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการและบริหารสินทรัพย์ระบบส่ง กฟผ. เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติทางทะเล ว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการบ้านปลาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยวางชุดปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เป็นบ้านปลา มาแล้วกว่า 3,600 ชุด ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ภูเก็ต จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ซลบุรี และในครั้งนี้ กฟผ. ได้นำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว จำนวนกว่า 2,500 ลูก มาจัดทำเป็นฐานฟื้นฟูปะการัง ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในวันนี้จำนวน 500 ชุด ทั้งนี้เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลบริเวณเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล สร้างแหล่งที่อยู่และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
อนึ่งสำหรับลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ใช้เป็นวัสดุหลัก ในการจัดทำเป็นชุดฐานฟื้นฟูปะการังนี้ ได้ผ่านการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำทะเล ไม่มีผลกระทบกับชีวิตพืชทะเล ปลา สัตว์ทะเล และปะการัง แต่อย่างใด
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขอขอบคุณ กฟผ. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแล รักษาอนุรักษ์ และฟื้นฟูแนวปะการัง โดยการสนับสนุนฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้านี้ จะนำไปจัดวางสำหรับเป็นฐานลงเกาะให้กับตัวอ่อนปะการัง ในท้องทะเลบริเวณเกาะไม้ท่อน ซึ่งจากการศึกษาและติดตามจากการดำน้ำสำรวจบริเวณที่วางฐานฟื้นฟูปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ. พบว่าปะการังที่ได้ฟื้นฟู สามารถเจริญเติบโตบนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีสัตว์ทะเลแวะเวียนเข้ามาหาอาหารบริเวณจุดวางฐานฟื้นฟูแต่ละแห่งเป็นจำนวนมากอีกด้วย