สถานีคิดเลขที่ 12 : ช่วงวัดใจ-พิสูจน์ตัวตนทางการเมือง
ในช่วงที่เป็นยุคปลายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้
ถือเป็นห้วงเวลา “วัดใจ” ที่สำคัญเหมือนกัน
ไม่ใช่แค่วัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะตัดสินใจยุบสภาเมื่อใด อย่างที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่มุ่งตั้งคำถาม เท่านั้น
หากยังเป็นช่วงเวลาวัดใจนักการเมืองและพรรคการเมืองส่วนใหญ่โดยทั่วไปด้วย
ว่าท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามา และจุดหมายปลายทางบางอย่างที่รออยู่ตรงเบื้องหน้า คุณจะเลือกยืนอยู่ตรงจุดไหน?
ให้ตัวเองได้ประโยชน์ที่สุด เสียประโยชน์น้อยที่สุด อยู่ในเซฟโซนหรือพื้นที่ปลอดภัยมากที่สุด และเรียกคะแนนนิยมได้เยอะที่สุด
ในสถานการณ์ “วัดใจ” เช่นนี้ เราจึงได้เห็นโมเมนต์เล็กๆ น้อยๆ ใหญ่ๆ ทางการเมืองที่น่าสนใจและละเอียดซับซ้อน เกิดขึ้นมากมาย
เช่น แม้สองพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์” จะออกมาวิวาทะกันในกรณี “กฎหมายกัญชา” ด้วยท่าทีที่มองเผินๆ คล้ายเป็นการถกเถียงเรื่องนโยบาย ที่วางฐานอยู่บนประเด็นผลประโยชน์สาธารณะ
แต่บริบทแวดล้อม ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกหลายๆ ด้าน ก็ตักเตือนให้คนดูวงนอกอย่างเราได้ตระหนักว่า เหตุผลหลักของความเห็นต่างคงไม่ได้มีอยู่แค่นั้น
หากยังมีปัจจัยเรื่องการแข่งขัน ขับเคี่ยว แย่งชิงฐานคะแนน ในบางพื้นที่เลือกตั้ง(ภาคใต้) ปะปนอยู่ด้วย ในอัตราที่สูงมาก
เช่นเดียวกับการเพิ่งปัดตก “กฎหมายสุราก้าวหน้า” กลางสภาผู้แทนราษฎร
ที่ทำให้ประชาชนได้มองเห็นกิริยาอาการทางการเมืองหลากหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นอาการพลิกไปพลิกมาของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวนไม่น้อย ที่โชว์ฟอร์มสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ในวาระแรก
ก่อนจะมีท่าทีอ่อนลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นการโหวตคว่ำกฎหมาย งดออกเสียง หรือหายตัวไม่ลงคะแนน ภายหลังการตั้งธงไม่เอา “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ของนายกรัฐมนตรี และการแก้เกมด้วยการ “เสกกฎกระทรวง” โดยมือกฎหมายรุ่นเก๋าของรัฐบาล
นอกจากนั้น ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยยังพึงตั้งคำถามต่อ ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อย (มี “บิ๊กเนม” รวมอยู่ด้วยพอสมควร) ที่หายตัวไปไม่ยอมมาร่วมโหวตกฎหมายในวาระที่ 3
ซึ่งถือเป็นการหายตัวที่ส่งผลกระทบใหญ่ ด้วยผลต่างแพ้-ชนะที่ห่างกันเพียงแค่สองเสียง
อย่างไรก็ดี ยังมีบางแง่มุมที่เซอร์ไพรส์ เป็นแง่งามของระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็น “สตอรี่ที่ขายได้” เมื่อมีการพบข้อมูลว่า เชิงชาย ชาลีรินทร์ ส.ส.ชัยภูมิ คือหนึ่งเดียวจากพรรคพลังประชารัฐ ที่โหวตเห็นด้วยกับ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ตั้งแต่วาระแรกยันวาระที่สาม
พร้อมกรณีศึกษาเรื่องเหล้ารัม “เดอะ สปิริต ออฟ ชัยภูมิ” วิสาหกิจชุมชนของประชาชนในพื้นที่เลือกตั้ง ที่เจ้าตัวเคยหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในสภา เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระแรก
ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 จึงเป็นห้วงเวลาพิสูจน์ตัวตนของนักการเมืองทุกคน
เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเลือกว่าจะนำเสนอภาพลักษณ์ของตนเองต่อสาธารณชน หรือกลุ่มเป้าหมายในคูหาลงคะแนนอย่างไร
โดยมีตัวชี้วัดเบื้องต้น คือ ผลโพลสำนักต่างๆ ที่มีความละเอียดลออยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
และตัวชี้วัดสุดท้าย คือ สนามเลือกตั้ง
ปราปต์ บุนปาน